Saturday, March 26, 2011

อาณาจักรใบไม้สีทอง


อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอ  ยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกต่าง ๆ ตลอดจนมีประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ของผู้ก่อการร้ายในนามขบวนการบูโดและขบวน การพูโล มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร

ในอดีตพื้นที่ของป่าเทือกเขาบูโดและเทือกเขาสุไหงปาดี เป็นพื้นที่ที่มีโจรผู้ร้าย ชุกชุม มีการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ มากมายในนาม “ขบวนการพูโล” และ “ขบวนการโจรบูโด” จนในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้มีความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ประกอบกับสภาพป่าทั้งสองมีความอุดมสมบูรณ์ และสวยงามตามธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกปาโจ ซึ่งอยู่บริเวณป่าเทือกเขาบูโด และในปี พ.ศ. 2519 ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกฉัตรวาริน ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าเทือกเขาสุไหงปาดีให้อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงาน ป่าไม้เขตปัตตานี

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนประชาชน ในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอระแงะ ทรงพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 ว่า “เทือกเขาสุไหงปาดีมีความสูง 1,800 ฟุต เป็นเทือกเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดนราธิวาส มีไอน้ำเกาะทำให้เกิดความชุ่มชื้นและเป็นแหล่งน้ำมีลำธารไหล 3 สาย ควรมีการรักษาแหล่งน้ำอย่างจริงจัง” ซึ่งกองอนุรักษ์ต้นน้ำได้ตรวจสอบแล้วรายงานว่า พื้นที่ป่าบริเวณเทือกเขาสุไหงปาดีมีสภาพดีมาก และมีธรรมชาติที่สวยงาม เห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 740/2525 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2525 ให้ นายสัมพันธ์ มิเดหวัน ไปสำรวจเบื้องต้น ซึ่งได้รับรายงานตามหนังสือ ที่ กษ 0713 (ขป) /พิเศษ ลงวันที่ 11 กันยายน 2526 ว่า บริเวณเทือกเขาสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส มีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ ได้รับหนังสือของศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนจังหวัดภาคใต้ ที่ มท 1501/1955 ลงวันที่ 2 กันยายน 2526 และหนังสือสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี ที่ กษ 0714 (ปน)/1689 ลงวันที่ 8 กันยายน 2526 เสนอความเห็นว่า บริเวณเทือกเขาบูโด จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม มีธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง ซึ่งป่าไม้เขตได้มีคำสั่งที่ 222/2526 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2526 ให้นายอภัย หยงสตาร์ นักวิชาการป่าไม้ 4 และนายสุธน จันทร์สว่าง เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 ไปสำรวจเบื้องต้นแล้ว เห็นสมควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0706/1073 ลงวันที่ 22 เมษายน 2527 เสนอนายจำนงค์ โพธิสาโร อธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งได้มีบันทึกลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2527 ให้ดำเนินการกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าทั้งสองเป็น อุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2531 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2531 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าเทือกเขาบูโด ป่าเทือกเขาสุไหงปาดี เป็นอุทยานแห่งชาติ

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าเทือกเขารือเสาะ ป่ายี่งอ และป่าบาเจาะ ในท้องที่ตำบลปะลุกาสาเมาะ ตำบลบาเระเหนือ ตำบลกาเยาะมาตี ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ ตำบลสุวารี ตำบลสามัคคี ตำบลรือเสาะออก ตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ ตำบลตะปอเยาะ ตำบลลุโบะบายะ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ และตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ป่ากะรุบี ในท้องที่ตำบลตะโละดือรามัน และตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ป่าจะกว๊ะ ในท้องที่ตำบลเกะรอ และตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และป่าบูเก๊ะตาเว แปลงที่ 2 ป่าบองอ และป่าบูเก๊ะตาเว แปลงที่ 1 ในท้องที่ตำบลจวบ ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง ตำบลบองอ อำเภอระแงะ ตำบลโต๊ะเด็ง ตำบลริโก๋ ตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี และตำบลเกียร์ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 48 ก วันที่ 17 มิถุนายน 2542 เป็นลำดับที่ 95 ของประเทศ
 ลักษณะภูมิประเทศ

เป็น ภูเขาสลับซับซ้อนประกอบด้วยเขาน้ำค้าง เขาบูโละ เขาบือซา เขาบูเก๊ะตอแลจอง เขาบือเกะบือซา เขาบูเก๊ะซามาเลีย มียอดเขาตาเว เป็นยอดเขาสูงที่สุดประมาณ 548 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นหินอัคนี บางส่วนเป็นหินปูน และหินกรวดขนาดใหญ่ สภาพป่าจะทอดแนวทางทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ เป็นแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำสายบุรี และคลองบาเจาะ เป็นต้น
 ลักษณะภูมิอากาศ

มีสภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน ซึ่งฝนจะตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม- ธันวาคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือน มกราคม-เมษายน
 พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพ ป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบขึ้นปกคลุมเทือกเขาทั้งหมด มีไม้ขนาดใหญ่ เช่น ตะเคียน กาลอ ไข่เขียว สยา หลุมพอ นากบุด ตีนเป็ดแดง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หวาย ปาล์ม ใบไม้สีทอง และมีพรรณไม้ที่หายากมีราคาแพงและกำลังจะสูญพันธุ์ คือ “หวายตะค้าทอง” และ “ปาล์มบังสูรย์ หรือลีแป” พบตามบริเวณป่าลึกบนภูเขาสูงและสันนิษฐานว่ามีอยู่แห่งเดียวในป่าบริเวณนี้

ใบไม้สีทอง หรือ ย่านดาโอ๊ะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhnia aureifolia เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ มีลักษณะเด่นตรงที่มีใบสีทองและผิวใบนุ่มเนียราวกับกำมะหยี่ รูปร่างคล้ายกับใบกาหลงหรือชงโค แต่ขนาดใหญ่กว่า มีขอบหยักเข้าทั้งโคนใบและปลายใบ คล้ายใบรูปไข่สองใบเชื่อมติดกัน พบเห็นได้ทั่วไปในผืนป่าบูโด และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

สัตว์ป่า ประกอบด้วย เก้ง กระจง เลียงผา บ่าง ลิง ค่างแว่นถิ่นใต้ นกอินทรี นกยางเขียว นกกระทา นกเปล้า นกหัวขวานแดง นกกางเขนดงหางแดง นกกางเขนดง นกเงือกปากดำ นกกาฝาก ไก่ป่า เป็นต้น

อำเภอสุคิริน จ.นราธิวาส


สุคิริน เป็นอำเภอเล็กๆ 1 ใน 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและระบบนิเวศน์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา - บาลา  เป็นพื้นที่อนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย โดยประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2539  ตั้งอยู่บริเวณทิวเขาสันกาลาคีรีอันเป็นแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 270,725 ไร่ ประกอบ ผืนป่าดงดิบที่สมบูรณ์ 2 ส่วน   คือป่าฮาลาในเขตอำเภอเบตงจังหวัดยะลา อำเภอจะแนะจังหวัดนราธิวาส และป่าบาลาในเขตอำเภอแว้ง  อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ด้วยสภาพพื้นที่เกือบทั้งหมดของเขตฯเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าดงดิบหรือป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง กอปรกับมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ของประเทศมาเลเซีย  จึงทำให้ป่าฮาลา - บาลาเป็นแหล่งอาศัยของพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก หลายชนิดมักพบเห็นได้เฉพาะบริเวณป่าแถบนี้เท่านั้น   โดยเฉพาะนกเงือกต่าง ๆ ที่พบได้จากป่าแห่งนี้ประมาณ 9 ชนิด จาก 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย เช่นนกเงือกหัวแรด นกชนหิน เป็นต้นนักท่องเที่ยวสามารถดูนก ชมสัตว์ ณ จุดชมสัตว์ ชมต้นกระพงยักษ์เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ วัดบริเวณโคนต้นราว 18 คนโอบ ดงมหาสะดัม ซึ่งเป็นต้นเฟิร์นใหญ่ชนิหนึ่ง และพักผ่อนที่น้ำตกสิรินธร ตลอดจนโครงการพระราชดำริพืชสมุนไพร ซึ่งในเขตอำเภอสุคิริน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านภูเขาทอง ฤดูกาลที่เหมาะแก่การมาท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา - บาลา คือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนกันยายนซึ่งจะมีฝนตกไม่มากเกินไปนัก
การเดินทาง โดยทางรถยนต์ เดินทางไปยังอำเภอแว้งจนถึงบ้านบูเก๊ะตา ก่อนถึงเขตแดนจะเห็นป้าย
บอกทางไปเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา - บาลาและน้ำตกสิรินธร เลี้ยวขวาไปตามทางโดยรถไฟ มาสุดสถานีปลายทางสุไหงโก - ลก สามารถจ้างเหมารถรับจ้างมาส่งที่เขตฯ ทุกครั้งที่เข้าพื้นที่เพื่อศึกษาธรรมชาติ ต้องทำหนังสือติดต่อแจ้งความประสงค์มาล่วงหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา - บาลา ตู้ ป.ณ. 3 อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส 96160

เหมืองแร่ทองคำ                                                                                                    
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทองเป็นเหมืองทองคำซึ่งสร้างก่อนปี พ.ศ.2474   โดยมีชาว
ฝรั่งเศสได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ภูเขาโต๊ะโมะ เดิมเรียกว่าภูเขาลีซอต่อมารัฐบาลไทยเข้าไปดำเนินการหลังจากเกิดสงครามอินโดจีน  และปัจจุบันได้เลิกดำเนินกิจการแต่ยังคงเหลือสิ่งก่อสร้าง  เช่นบ้านพักที่ทำการเดิม อุโมงค์ 4 อุโมงค์หลัก   และอุโมงค์ย่อยอีก เป็นจำนวนมาก
บริเวณโดยรอบประกอบด้วยป่าไม้นานาชนิดมีลำธารน้อยจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนียภาพ
ในยามเช้า จะปรากฏทะเลหมอกเป็นลานกว้างสวยงามนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้าง  สามารถพักได้ที่บ้านพักซึ่งดัดแปลงเป็นที่รองรับนักท่องเที่ยวที่มาพักค้างคืนได้ประมาณคืนละ 25 - 30 คน หากนักท่องเที่ยวต้องการชมการร่อนทองแบบพื้นเมือง จะมีการสาธิตการร่อนทองและสามารถเห็นแร่ทองคำจริง ๆ

วัดโต๊ะโมะ                                                                                                          
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทองเป็นวัดหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ
พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา  และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวตำบลภูเขาทอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ทรงงานเมื่อยามที่เสด็จมาประทับเพื่อเยี่ยมเยือนช่วยเหลือราษฎรโดยภายในบริเวณวัดยังประกอบด้วยศูนย์ศิลปาชีพ ซึ่งเป็นศูนย์ส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มแม่บ้าน เช่นการทอผ้าไหม การแกะสลัก การจักสาน โดยเฉพาะการจักสานย่านลิเพา

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ                                                                                                
ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดโต๊ะโมะ เป็นสถานที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนและนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีนของประเทศใกล้เคียงอาทิ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์  เดิมเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่โต๊ะโมะ ปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ศาลเจ้าในอำเภอสุไหงโก - ลก


น้ำตกโต๊ะโม๊ะ                                                                                                      
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3บ้านโต๊ะโม๊ะ ตำบลภูเขาทอง หรือบริเวณด้านหลังวัดโต๊ะโม๊ะประมาณ 3 กิโลเมตร       เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก ประกอบด้วยธารน้ำตก 4 ชั้นมีความสูงของแต่ละชั้น ๆ ละ 10 เมตร   บริเวณทางขึ้นมีลำธารน้อยใหญ่เรียงรายตลอดแนว และเต็มไปด้วยเกาะแก่งขนาดต่าง ๆ มากมาย จึงเหมาะที่เป็นสถานที่พักผ่อน   
หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12                                                                                            
ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 บ้านจุฬาภรณ์ 12 ตำบลสุคิรินเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์มาจากการต่อสู้  ของกลุ่ม
ขบวนการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ทรงมีพระราชดำริในการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12  ภายในหมู่บ้านมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือพิพิธภัณฑ์สงคราม แสดงให้เห็นถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทางผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเคยใช้  ซึ่งเดิมเป็นกองกำลังใช้ต่อสู้กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เช่นอาวุธปืนเข็มทิศเครื่องเวชภัณฑ์  เครื่องสนาม เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น ตลอดจนบริเวณใกล้เคียงหมู่บ้านไม่ห่างไกลมากนักมีอุโมงค์ประวัติศาสตร์อนุสรณ์ สถานที่กองกำลังเดิมใช้เป็นที่หลบภัยและอาศัยต่อสู้ลวงข้าศึกซึ่งขุดไว้ใต้ดิน  เป็นทางยาวราว 300 เมตร อันเป็นสถานที่น่าชมยิ่ง

บ้านซาไก                                                                                                       
เป็นสถานที่พักชั่วคราวบริเวณรอยต่อเขตประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียของชนเผ่าคนดั้งเดิม  อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ โดยพักอาศัยอยู่เป็นช่วงๆ แรมเดือน รวมเป็นกลุ่ม ๆ ละ 7 - 10 คน ครอบครัวเรียกตนเองว่าชนเผ่าอัสรี อาศัยหาอาหารของป่า ใช้สิ่งของจากธรรมชาติมาก่อสร้างเป็นเพิงพัก ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ระหว่างบ้านโต๊ะโมะและบ้านภูเขาทอง หมู่ที่ 2 ตำบลภูเขาทองสภาพความเป็นอยู่ของชนเผ่าอัสรี  เมื่ออาหารในป่าหมดหรือไม่สามารถหาอาหารจากชาวบ้านในหมู่บ้านได้ประกอบกับเป็นชนเผ่าที่เบื่อหน่ายที่อยู่อาศัยง่ายซึ่งจำเจทั้งชอบที่จะอาศัยทำกินเร่ร่อน ก็จะออกเดินทางไปมาระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศไทย

เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ                                                                                             
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านไอกาเปาะ ตำบลภูเขาทอง  เดิมเป็นสถานที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการผลิตทองคำ    ต่อมาได้มีการดัดแปลงมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ  เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 4 ตามโครงการพระราชดำริ อันประกอบด้วยโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก  และมีลำธารโดยรอบที่สวยงาม  บริเวณเหนือโรงไฟฟ้าขึ้นไปมีเขื่อนขนาดเล็กและอ่างเก็บน้ำที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปชมได้อย่างสะดวก

Thursday, March 24, 2011

ตลาดนัด ไทยเข้มแข็ง

“ตลาดนัด ไทยเข้มแข็ง” เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ของประชาชน หลังจากที่ต้องประสบกับความยากลำบากในการประกอบอาชีพอันเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรที่ไม่สามารถขายผลผลิตได้ เนื่องจากพ่อค้าคนกลางไม่กล้าเข้ามารับซื้อ ประกอบกับมีผลผลิตที่เกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน เช่น โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือโครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีแหล่งรองรับผลผลิตเหล่านี้อย่างเพียงพอ
ตลาดนัดไทยเข้มแข็ง จัดตั้งขึ้นแห่งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานีตั้งอยู่ภายในบริเวณอาคารห้องเย็นและตลาดกลางผัก-ผลไม้ อ.หนองจิก โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่หลายหน่วยงาน กำหนดจัดขึ้นเดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันเสาร์แรก และเสาร์ที่ 3 ของเดือน โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ตลาดนัดแห่งนี้มีการนำสินค้าที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่มาจำหน่าย  ซึ่งพบว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนที่มาซื้อหาสินค้า


จากการที่ “ตลาดนัดไทย เข้มแข็ง” ของ จ.ปัตตานีแห่งนี้ ตั้งขึ้นภายในบริเวณโครงการห้องเย็นและตลาดกลางผัก-ผลไม้  ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงให้มีการใช้ห้องเย็นแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรักษาสินค้าทางการเกษตรของเกษตรกรด้วย  ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเน่าเสียราคาผลผลิตตกต่ำ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์แช่แข็ง โดยจะเปิดให้บริการได้ใน เร็วๆ นี้ 
 ทั้งนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่าการดำเนินการเพื่อยกระดับรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่พี่น้องประชาชน ให้ประชาชนเกิดการอยู่ดีกินดีจะเป็นส่วนหนึ่งของการสนองแนวยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่เป็นหัวใจของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อีกด้วย

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้าน


โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พนม.เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ ศอ.บต.มุ่งเน้นดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความหวาดระแวงที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเสมือนเครื่องมือการทำงานของฝ่ายพลเรือน เมื่อลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับประชาชน ก่อให้เกิดความไว้วางใจ ความรัก ความศรัทธาระหว่างกันโดยมีการส่งเสริมอาชีพ และการมีงานทำ การก่อสร้าง ซ่อมแซมสิ่งสาธารณะประโยชน์ ถนน วัด มัสยิด ส่งเสริมวัฒนธรรม คุณธรรม และจริยธรรม โดยมีเป้าหมายดำเนินการทั้งหมดกว่า 2,000 หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ชุมชนบ้านกาเด็ง ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เป็นชุมชนหนึ่งที่ได้รับทุนกว่า 2 แสนบาท จากโครงการ พนม.เมื่อปี 2551 มาบริหารจัดการเพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพ โดยจัดตั้งเป็นสหกรณ์ร้านค้าใช้ชื่อว่า ร้านสหกรณ์ภูมิปัญญาขุนละหาร ในพื้นที่ของบ้านผู้ใหญ่บ้าน สินค้าส่วนใหญ่ที่นำมาขายเกิดจากฝีมือของคนในชุมชนเองโดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้ เช่น กรงดักนกคุ่มจำลอง ว่าววงเดือนย่านลิเภา โคมไฟกะลามะพร้าว และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นของโบราณในท้องถิ่นเพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง     
ร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการ พนม. ของ ศอ.บต.ซึ่งเกิดจากกระบวนการทำงานที่สอดประสานจากทุกภาคส่วน จนสามารถแก้ไขปัญหาความหวาดระแวงของประชาชนที่เคยมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นอุปสรรคในการมีส่วนร่วมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

Monday, March 7, 2011

สติสาธารณะ กับความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้


โดย ขวัญสรวง อติโพธิ สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม  มติชนรายวัน  วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9749

คงไม่เกินเลยไปหากจะใช้คำว่าแผ่นดินในสามจังหวัดภาคใต้ของเรากำลังจะลุกเป็นไฟ ชีวิตผู้คนกำลังถูกผลักไสให้เข้าพบกับความทุกข์ยากเป็นสาหัส

ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ในฐานะประชาชนพลเมืองร่วมชาติร่วมแผ่นดินเกิด เราไม่อาจดูดายให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไปในหนทางเช่นนี้ได้

จากจุดยืนของพลเมืองที่ถือว่า "บ้านเมือง...เรื่องของเรา" เราจะร่วมกันทำอะไรกันได้บ้าง

การทวีตัวของความรุนแรง

สภาพการทวีความรุนแรงก่อความเสียหายร้าวฉานหนักหนาขึ้นทุกขณะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้นั้น มองในเชิงระบบกล่าวได้ว่าเรากำลังเกิดภาวะการส่งผลกระทบกลับไปกลับมาของความรุนแรงที่ทวีตัวบานปลายเพิ่มขึ้นทุกที(Positive Feedback) ล่าสุดผ่านกรณี 87 ศพที่ตากใบ เรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ก็ถูกฉุดกระชากให้ยกระดับเข้าเชื่อมโยงกับปัญหาการก่อการร้ายระดับโลกเรียบร้อยแล้ว

เรื่องราวจะหนักหนาขึ้นอีกสักแค่ไหนไม่มีใครรู้

ในธรรมชาติ เมื่อเสือผอมที่ปราดเปรียวออกวิ่งล่าเหยื่อมาเป็นภักษาหารอยู่เป็นนิตย์ เสือก็จะอ้วนขึ้นทุกทีเหยื่อก็จะถูกกินลดจำนวนน้อยลงทุกวัน แต่ในขณะเดียวกันความอ้วนของเสือก็จะค่อยๆ ส่งผลให้เสือกลับเริ่มอุ้ยอ้ายวิ่งช้าลงทุกขณะ จึงเริ่มจะจับเหยื่อได้น้อยลง เหล่าเหยื่อก็จะมีโอกาสค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนเสือก็จะค่อยๆ กลับผอมลงอีกครั้ง เสือมีอ้วนมีผอมขึ้นลง เหยื่อมีน้อยมีมากไปตามกันได้อย่างนี้

เห็นได้ว่าเมื่อเกิดภาวะการกระทบที่ก่อให้เกิดการทวีตัวขึ้น ในที่สุดธรรมชาติก็จะก่อภาวะย้อนรอยทำให้เกิดผลกระทบที่ทำให้เกิดการลดตัวลง(Negative Feedback) เกิดการเปลี่ยนกลับไปกลับมาที่เลี้ยงรักษาดุลยภาพได้เองอย่างน่าอัศจรรย์

โลกของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ในโลกในสังคมมนุษย์เอง ภาวะทบตัวอย่างนี้ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ผัวเมียที่เริ่มทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ลืมภาษิตโบราณที่บอกว่า "รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ" ปล่อยให้โทสะเข้าครอบงำ ลำเลิกล่วงเกินกันและกันจนหนักขึ้นทุกทีจนเลยไปถึงขั้นบ้านแตกแยกคู่หรืออย่างในกรณีการล้มลงของธนาคารเพราะข่าวลือที่ว่า แบงก์กำลังจะเจ๊ง ได้เข้าทบตัวความแตกตื่นแย่งกันถอนเงินของเหล่าลูกค้า ยิ่งถอนก็ยิ่งตื่น ยิ่งตื่นก็ยิ่งถอน ทบทวีกันไม่กี่ทีแบงก์ก็เลยล้มเอาจริงๆ

ภาวะการทบตัวที่เกิดในโลกของมนุษย์อย่างนี้จะไม่มีการกลับเข้าสู่ดุลยภาพได้เอง เช่นในธรรมชาติมนุษย์เราจะต้องรู้จักที่จะเข้าใจเรื่องราว เกิดภาวะทบตัวบวกพาเข้าหาวิกฤตก็ต้องรู้จักก่อภาวะทบตัวลบเข้าหักล้างแก้ไข

กลับมาที่กรณีสามจังหวัดภาคใต้ บ้านเราจะรู้จักทำอะไร ให้เกิดอะไร ที่ก่อให้เกิด Negative Feedback ที่จะค่อยๆ ทุเลาเหตุการณ์ ค่อยๆ เกิดการร่วมกันแก้ไขผ่อนคลายปัญหา ค่อยๆ นำสันติภาพกลับมาสู่แผ่นดินสู่ชีวิตพี่น้องชาวไทยในภูมิภาคนี้ได้ หนทางแห่งความรุนแรงและการใช้กำลังมีแต่พาเรื่องให้หนักหนา ก่อ Positive Feedback มากขึ้นทุกที การใช้ความรุนแรงไม่มีทางที่จะทำหน้าที่ทุเลาปัญหาแก้วิกฤตชนิดนี้ให้เบาลงได้ ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่เต็มโลก

แต่รัฐบาลของเราเองกลับกำลังดิ่งเดินอยู่ในหนทางเส้นนี้ ใช่หรือเปล่า น่าวิตกหรือไม่

คือการเมืองภาคพลเมืองตัวสำคัญ

ในความหมายที่กว้างสุดสุด การเมืองก็คือการทำธุระส่วนรวมของบ้านเมืองให้ไปรอดไปดี แต่ในพื้นที่การทำการเมืองเพื่อส่วนรวมนี้ก็จะมีการทำการเมืองอยู่อีกสองภาคคือ การเมืองภาครัฐ(การเมืองระบบตัวแทนและเจ้าหน้าที่กลไกรัฐ) กับการเมืองภาคพลเมือง จึงเห็นได้ว่าในนามของส่วนรวมเราจะมีการทำการเมืองอยู่สองภาคที่ร่วมปริมณฑลกันอยู่

เมื่อไรที่ประชาชนคนส่วนตัวริเริ่มลงมือร่วมกันกระทำกิจธุระต่างๆ ของส่วนรวม จังหวะนั้นเองเขา กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่เป็นพลเมืองที่กำลังทำการเมืองเรื่องของส่วนรวม

ปัญหาความมั่นคงของชาติเช่นปัญหาความรุนแรงที่ภาคใต้เป็นเรื่องของส่วนรวมหรือเปล่า เป็นเรื่องของการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็น จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เพียงพอแล้วหรือที่จะปล่อยให้การเมืองภาครัฐรับผิดชอบเรื่องนี้ไปตามลำพัง จำเป็นหรือไม่ที่ประชาชนคนทั่วๆ ไปที่รักบ้านรักเมือง รักสันติภาพ จะลุกขึ้นก้าวพ้นจากความเป็นเอกชนคนส่วนตัวเข้าร่วมสร้างสรรค์ทำการเมืองภาคพลเมือง เพื่อเข้าพบปัญหาส่วนรวมตัวสำคัญนี้

หลักคิดก็คือ ประเทศชาตินั้นเป็นของเราทุกคน โดยพื้นฐานเราจึงมีสิทธิและหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบประเทศชาติ ในฐานะเจ้าของเราจะรู้จักตื่น รู้จักลุกขึ้นมาร่วมกันทำการเมืองภาคพลเมืองในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ในครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร หรือจะดูดายหลับไหล ปล่อยวางให้การเมืองระบบตัวแทน(ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นตัวแทนไม่ใช่เจ้าของ) ทำเรื่องของส่วนรวมเรื่องนี้ไปโดยลำพัง

ทำไปในหนทางที่เห็นว่ามีแต่จะทบทวีความรุนแรง ไม่เห็นทางที่จะดีขึ้นหรือเบาลงได้

ความเป็นจริงที่ห้อมล้อม

พูดกันตรงๆ คนไทยเรานั้นยังชิน ยังคุ้นที่จะเป็นราษฎรผู้ประจำการอยู่แต่ในภาคส่วนตัว ทอดธุระส่วนรวมต่างๆ ให้ภาครัฐรับไปทำให้อยู่นมนานกาเล การเมืองภาคพลเมืองที่ผู้คนถือตนว่าเป็นเจ้าของประเทศ ลุกขึ้นร่วมกันทำธุระของส่วนรวมต่างๆ ทั้งทำเองและมีส่วนร่วมกับภาครัฐ แทบจะเป็นเรื่องที่คนไทยเราไม่รู้จัก นึกไม่ค่อยออก เมื่อเข้าพบปัญหาความมั่นคงของชาติผ่านกรณีสามจังหวัดภาคใต้ในคราวนี้ หวังได้แค่ไหนว่าคนไทยเราจะออกมาเป็นธุระใส่อกใส่ใจ นี่เป็นความจริงประการหนึ่ง

ความจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ในช่วงสามสี่เดือนที่จะถึงนี้ การเมืองภาคตัวแทนของเรากำลังจะยกทัพเข้าช่วงชิงอำนาจ กระทำการเลือกตั้งแย่งเก้าอี้ผู้แทนกันเป็นโกลาหลและเอาเป็นเอาตาย การเข้าแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศชาติในช่วงคาบลูกคาบดอกช่วงนี้ จึงซ้อนทับกับความมั่นคงของพรรค จะมีผลเป็นการได้เสียขึ้นลงของกระแสนิยมและคะแนนเสียงอย่างสำคัญ กรณีความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้กำลังเป็นปัญหาที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองฟากระบบตัวแทนยิ่งนัก

จึงน่าหนักใจหรือไม่ว่ากระบวนการเข้าพบปัญหาแก้ไขปัญหาวิกฤตใต้ของเหล่านักการเมืองตัวแทนทุกซีกฝ่ายในช่วงใกล้เลือกตั้งครั้งนี้ จะอยู่ในร่องในรอย คิดอย่างที่ควรคิด ทำอย่างที่ควรทำ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การอั้นราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้จนกว่าจะพ้นการเลือกตั้ง โดยแลกกับความเสี่ยงของการแบกรับส่วนต่างที่ค่อยๆ เอาไว้ใช้คืนในอนาคตจำนวนมหึมา

ความเคยชินที่น่ากลัว

ในสังคมศิวิไลซ์ มีความเจริญเป็นประชาสังคม(Civil Society) นั้น การเข้าพบและเข้าแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเขาจะถือเอาการใช้สติปัญญาวิชาความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญ ถือเอาการตกลงหาข้อยุติด้วยวาทะกรรมเป็นเครื่องตัดสิน(Discourse Society) สังคมเช่นนี้จึงห่างไกลจากอคติและความบุ่มบ่ามใช้กำลัง

มองกันในแง่มุมนี้ สังคมไทยของเราเป็นอย่างไร พูดกันตรงๆ อีกครั้งผู้เขียนเห็นว่า สังคมของเราห่างไกลจากความถี่ถ้วน ในการใช้สติปัญญาวิชาความรู้ในการเข้าพบ และตัดสินเรื่องของส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง

ทักษะและประสบการณ์ในด้านนี้ของเรามีน้อยกว่าน้อย ความเคยชินเช่นนี้เมื่อบวกกับการเป็นราษฎรที่รักจะไม่เอาธุระเรื่องของส่วนรวม หวังบริโภคบ้านดีเมืองดีจากการมอบให้ทำให้ของการเมืองภาครัฐตลอดมา คนไทยเราจึงพร้อมที่จะชอบง่ายไม่คิดมากติดบริการ มองความมั่นคงของตัวเองเป็นเรื่องเดียวกับความมั่นคงของรัฐบาล ถูกภาครัฐปลูกฝังและอบรมหรือกระทั่งปลุกปั่นให้ใช้อคติไปคิดแรงทำแรงในเรื่องของชาติ บ้านเมืองได้ตลอดมา



เรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและมีความละเอียดอ่อนต้องการความรู้ความเข้าใจปัญหาและทัศนคติที่มีความลึกและความละเอียดตามกันไป ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านร้านตลาดจะเข้าถึงเข้าใจปัญหาบ้านเมืองปัญหานี้ได้ดีแค่ไหน เข้าใจดีก็เพื่อที่จะได้เป็นทุนทางสติปัญญาเกิดวิจารณญาณ มีปฏิกิริยาและพฤติกรรมที่เหมาะสมกับกรณีนี้

เป็นที่น่าวิตกหรือไม่ว่า ขณะนี้เมื่อเหตุการณ์รุนแรงที่สามจังหวัดกำลังหนักหนาขึ้น ก็เริ่มปรากฏความคิดและการถกเถียงปลุกปั่นในสื่อต่างๆ ที่เต็มไปด้วยอคติและการยุยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระดานเว็บไซต์ต่างๆ

ถ้าท่านผู้อ่านอยากสัมผัสขอให้ไปเปิดดูเอาเองแล้วจะเริ่มรู้สึกว่าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น แท้จริงคือเมื่อวานซืนนี้เอง

สติสาธารณะในกรณีสามจังหวัดภาคใต้

สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ มีอดีต มีปัจจุบัน เป็นเหตุเป็นผลในตัวของมันเองทั้งรวมตัวเป็นกรรมที่จะกระทบและผลักดันตัวของมันเองไปในอนาคตต่อไป บ้านเมืองไทยของเราจะเข้าพบปัญหานี้ยังไง ปัญหานี้จะกลับเข้าพบเข้าทำบ้านเมืองของเราอย่างไรในวันข้างหน้าไม่มีใครคาดเดาได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะพลเมืองที่ห่วงใยบ้านเมืองและพี่น้องในสามจังหวัดภาคใต้ เราดูดายเรื่องนี้ไม่ได้ เราจะร่วมกันคิดอ่านทำอะไรกันดี ผู้เขียนคิดว่าการหาทางร่วมกันสร้างสรรค์ "สติสาธารณะ" ของประชาชนคนไทยที่เกี่ยวที่ข้องกับเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นมาครองตัวครองใจผู้คนในวงกว้างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งนัก

สติสาธารณะนี้เองจะเป็นเสมือนทุนทางความคิดช่วยให้สังคมของเรา ร่วมกันเข้าพบประสบปัญหาแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ ได้อย่างมีวุฒิภาวะ ห่างไกลจากอคติและความหยาบคิดบุ่มบ่ามทำ นี่คือพื้นฐานสำคัญที่สุดของสังคมที่กำลังต้องร่วมกันพบกับวิกฤตที่สลับซับซ้อนเพราะบ่มฝังเพาะตัวมานานช้า และกำลังทบทวีตัวพลุ่งเป็นความรุนแรงและความเสียหายที่น่าสะพรึงกลัวของทุกๆ ฝ่าย

หากท่านผู้อ่านกรุณาย้อนไปพินิจดูภาพประกอบบทความบทนี้อีกครั้ง ท่านจะสังเกตเห็นได้ถึงเนื้อหาที่หวังจะสื่อสารออกไป ไม่ว่าจะเป็นผู้คนทั้งสองฝั่งไม้กระดกที่เป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังถูกปกคลุมด้วยโทสะและโมหะมีรัก โลภ โกรธ หลงเป็นเจ้าเรือน ความแตกแยกตัวแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และความรุนแรงที่กระทำเข้าใส่กัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างทยอยตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผีปีศาจคือ อคติที่พยายามเข้าสิงสู่จิตใจของทั้งสองฝ่าย ให้ห่างพ้นจากความรัก และความเข้าใจซึ่งกันและกันขึ้นทุกที ความหวาดระแวง ความโกรธและความเกลียดจึงค่อยๆ ทบตัวเข้ามาแทนที่ ไม้กระดกบนยอดเขาจึงโยกคลอนขึ้นทุกขณะและสุดท้ายจะไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะได้เลยนอกจากปีศาจอคติตัวนั้น

ทำอย่างไรเราจะก่อร่างสร้างกระแสสติแห่งสาธารณะขึ้นมาในบ้านเมืองอันจะทำให้ปีศาจตัวนี้มันเล็กลงอ่อนแรงลง เกิดกรรมคือกระทำชุดใหม่ๆ ที่โน้มนำให้หนทางแห่งสัมมาทิฐิสู่สันติภาพมีโอกาสเปิดตัวขึ้น แทนที่จะจมดิ่งลึกไปในวังวนของความรุนแรงที่มีมิจฉาทิฐิเข้าผลักใส มีความโกรธเกลียดเข้านำทาง

ผู้เขียนตั้งสติเขียนบทความนี้โดยมุ่งหวังจะไปให้พ้นจากการกล่าวผิดว่าร้ายใดๆ ทั้งสิ้น หากยังพลาดพลั้งก็ขออภัย

ขอสันติภาพจงมีแก่บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเราทุกคน

ยุทธวิธี "ดับไฟใต้" ฉบับ "ประเวศ วะสี" ป้องกัน "มิคสัญญี"


รายงาน   มติชนรายวัน  วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

หมายเหตุ - ศาสตราจารย์ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนอแนวคิดการป้องกันมิคสัญญี เนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่อเค้าว่าจะลามเลียไปเกิดมิคสัญญีทั้งสังคม ถ้าเราไม่เข้าใจและร่วมกันป้องกัน ความขัดแย้งและความรุนแรงจะลามปาม และดึงการก่อการร้ายสากลเข้ามาถึงใจกลางพระนคร ก่อความปั่นป่วนวุ่นวาย สูญเสีย เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก โอกาสในการพัฒนาจะหมดไป บ้านเมืองจะเข้าไปติดกับในวิกฤตการณ์ยาวนานเป็นสิบปี

จริงอยู่การลอบฆ่าชาวพุทธและผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม ชวนให้เกิดการบันดาลโทสะแห่งชาติ ถ้าเราควบคุมความโกรธไม่ได้จะไปเข้าทางของผู้บงการให้เกิดความรุนแรง เขาอยากให้เป็นเช่นนั้น เหมือนจิ้งหรีดที่ถูกปั่นหัวให้กัดกันจนตาย เราต้องไม่เป็นจิ้งหรีด แต่มีสติและใช้ปัญญา พาตัวให้พ้นกับดักอันรุนแรงที่สุดนี้ไปให้ได้

เราควรทำความเข้าใจอันตราย 2 เรื่อง คือ

1.สงครามจรยุทธ์

2.การก่อการร้ายสากล

ถ้าเกิดสงครามจรยุทธ์ การทุ่มกำลังกองทัพอันเกรียงไกรลงไปต่อสู้ไม่สามารถเอาชนะได้ ดูตัวอย่างสงครามเวียตนาม สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มสรรพกำลังมหาศาลเข้าไปต่อสู้ เวียดกงและเวียดนามเหนือไม่ได้เข้าปะทะตามสงครามในรูปแบบ แต่ใช้การทำสงครามจรยุทธ์ ทหารอเมริกันตายไปประมาณ 50,000 คน และต้องพ่ายแพ้ไป ขณะนี้สหรัฐก็เข้าไปติดกับสงครามจรยุทธ์ในอิรัก ทหารต้องล้มตายไปทุกวัน และมองไม่เห็นชัยชนะ ฝรั่งเศสเคยไปติดกับสงครามแอลจีเรียอยู่ถึงกว่า 10 ปี ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ไม่มีทางเอาชนะ และเกิดความขัดแย้งกันในฝรั่งเศสเอง จนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง

ขณะนี้สถานการณ์ในภาคใต้กำลังดำเนินเข้าสู่สถานการณ์สงครามจรยุทธ์แล้ว เราไม่มีทางชนะโดยทุ่มกองทัพใหญ่ลงไปปราบปราม สงครามอาจเรื้อรังเกิน 10 ปี ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจมหาศาล และเพิ่มจำนวนผู้ต่อต้านรัฐมากขึ้น เหมือนคอมมิวนิสต์ยิ่งฆ่ายิ่งเพิ่ม แบบที่เขาว่า "ตายสิบเกิดแสน" เราจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องสงครามจรยุทธ์ให้ดี

การก่อการร้ายสากล ศูนย์กลางความขัดแย้งโลกขณะนี้คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับโลกอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยชาวมุสลิม 1,500 ล้านคน ความขัดแย้งนี้เป็นต้นเหตุของสงครามยิว-อาหรับในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อมากว่าครึ่งศตวรรษ กรณีตึกเวิลด์เทรด หรือ 9/11 สงครามอัฟกานิสถาน สงครามอิรัก การก่อการร้ายที่นำโดยบิน ลาเดน และอื่นๆ อันทำให้โลกขาดสันติภาพอยู่ในขณะนี้

สหรัฐย่อมอยากให้ไทยขัดแย้งกับโลกมุสลิม เมื่อมีการจับฮัมบาลีได้ในประเทศไทย อเมริกาก็ประเคนเงินสินบนให้ก้อนใหญ่ และนำไปโพนทะนาทั่วโลก อเมริกา "ยกย่อง" ให้ไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต้ ชักชวนให้ไทยส่งทหารไปอิรัก เหล่านี้ล้วนเป็นการดึงไทยไปเข้าเป็นพวกอเมริกาอย่างโจ่งแจ้งอย่างน่ากลัวยิ่ง เมื่อเกิดเรื่องสังหารหมู่มุสลิมในสุเหร่ากรือแซะ เมื่อ 28 เมษายน 2547 และกรณีจับคนมุสลิมยัดใส่รถยีเอ็มซีจนตายเพราะขาดอากาศ 78 คน เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 ข่าวเหล่านี้ไปสู่การรับรู้ของชาวมุสลิม 1,500 ล้านคนทั่วโลกแล้ว นี้เป็นบาดแผลร้าวลึกระหว่างไทยกับโลกมุสลิมอันจะนำไปสู่ผลอันน่ากลัวยิ่ง เป็นปุ๋ยอย่างดีแห่งการก่อการร้ายสากล ถ้าในอนาคตเกิดกรณีแบบวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด หรือระเบิดอัตวินิบาตขึ้นในกรุงเทพฯ เราจะเข้าสู่ยุคมิคสัญญี

คนไทยควรทำความเข้าใจสถานการณ์เหล่านี้ และร่วมมือกันป้องกันมิคสัญญีมิให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งขอเสนอแนวทางและมาตรการ 7 ประการ ดังต่อไปนี้



1.ใช้ยุทธศาสตร์สันติวิธี

แม้นมันน่าจะแค้นเพียงใด ต้องตั้งสติมั่นและมั่นคงในแนวทางสันติวิธี เราเคยมีบทเรียนในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ยิ่งฆ่ายิ่งเพิ่ม ประธานเหมา เจ๋อ ตง แนะนำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นว่าอย่าฆ่าคอมมิวนิสต์ ถ้าฆ่าจะแพ้ เมื่อรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำยุทธศาสตร์สันติวิธีในนามของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 มาใช้ ความขัดแย้งเรื่องคอมมิวนิสต์สงบลงโดยรวดเร็ว

คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ได้ทำยุทธศาสตร์สันติวิธีไว้ รัฐบาลควรให้คณะกรรมการคณะนี้เข้ามาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สันติวิธี จนมีความเป็นเอกภาพในนโยบายสันติวิธี และเกิดทักษะในการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ในระยะยาวคนไทยควรปักธงแห่งอหิงสธรรมบนดินแดนแห่งนี้ให้ได้



2.ป้องกันการลอบฆ่า

การฆ่ากันไปมาจะเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงขึ้นในแผ่นดินนี้ จะต้องยุติให้ได้ ควรให้ประชาชน องค์กรท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นผู้มีบทบาทให้มากที่สุด รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน

3.ให้มีคนคอยพูดคุยกับทุกฝ่าย

ในท่ามกลางความตึงเครียด ถ้ามีคนที่เป็นกลางคอยพูดคุยกับทุกฝ่ายไว้ จะลดหรือป้องกันความรุนแรงได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีดังกล่าวในข้อ 1 นั่นแหละควรเป็นผู้ไปพูดคุยทั้งกับทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน รัฐบาล ฯลฯ ให้มีการรู้ถึงกัน จะคลายความรุนแรงลงไปได้

4.ปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังในการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น

ที่ไหนก็ตามถ้าอำนาจรวมศูนย์อยู่ในส่วนกลางจะเกิดความเครียดในระบบ และปะทุไปสู่ความรุนแรง ในประเทศประชาธิปไตยจึงให้ความสำคัญแก่การปกครองท้องถิ่นมาก สหรัฐนั้นเป็น United States มาตั้งแต่ต้น โดยแต่ละรัฐปกครองตัวเอง สหรัฐจึงเข้มแข็งโดยรวดเร็ว ประเทศมาเลเซียเล็กกว่าไทยยังมีกว่า 10 รัฐ เยอรมนีก็ประกอบด้วยรัฐต่างๆ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีของตัวเอง การเป็น "สหรัฐ" ไม่ได้แปลว่าไม่ได้เป็นประเทศเดียวกัน ตรงข้ามกลับทำให้ประเทศโดยรวมเข้มแข็งขึ้นและมีสันติภาพ กรุงเทพฯก็เลือกตั้งผู้ว่าฯของตนเองเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว

ควรปรึกษาหารือกันอย่างจริงจัง และรีบด่วนในการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น ไม่ใช่เฉพาะสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่กลุ่มจังหวัดอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันด้วย เช่น ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง อีสานเหนือ อีสานใต้ เป็นต้น ภาคเหล่านี้ประชาชนอาจเลือกผู้ว่าราชการภาคของตนเอง มีการเงินการคลังที่ทำให้บริหารจัดการเรื่องของตนเองให้ได้มากที่สุด นักวิชาการ เช่น กลุ่มของ ดร.จรัส สุวรรณมาลา ได้วิจัยเรื่องการเงินการคลังท้องถิ่นมานาน ควรเชิญมาร่วมปรึกษาหารือ ยิ่งเร็วยิ่งส่งความรู้สึกที่ดีไปสู่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นจะทำให้ลดความต้องการที่จะแยกประเทศ

5.วางความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับโลกอิสลาม และกับอเมริกา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับโลกอิสลามนั้นแหลมคม รุนแรง และอันตรายยิ่ง อเมริกานั้นมีอิทธิพลซึมซับในเนื้อในตัวของประเทศไทย สามารถกำหนดการรับรู้ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของไทยอย่างอัตโนมัติ จึงยากที่ไทยจะไม่ถูกผลักถูกดึงให้อยู่ข้างอเมริกา ซึ่งก็จะทำอันตรายอันใหญ่หลวงมาสู่ประเทศเราดังกล่าวแล้ว

ฉะนั้นไทยจะต้องพยายามอย่างจริงจังที่จะวางความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับโลกอิสลามและกับอเมริกาว่าเราเป็นมิตรกับอิสลาม และเป็นมิตรกับอเมริกา ต้องใช้สิ่งที่เรามีเข้ามาช่วยกันอย่างเต็มที่ เช่น บทบาทของพระราชวงศ์ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ความร่วมมือทางศาสนา การทูตชั้นเยี่ยม ประเทศไทยควรจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างนักวิชาการอเมริกันและนักวิชาการมุสลิมที่รักสันติภาพ โดยจัดประชุมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนเกิดภาพพจน์แห่งความเป็นกลางและสันติ

6.ปรับทิศทางการพัฒนา

ทิศทางการพัฒนาแบบเงินนิยมจะเป็นตัวเร่งความเสื่อมเสียศีลธรรม ความขัดแย้ง และความรุนแรง ประเทศไทยควรจะปรับทิศทางการพัฒนาไปสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัส เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางธรรมนิยมที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ พร้อมกันอย่างบูรณาการ อันเป็นไปเพื่อไมตรีจิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

7.การปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐาน (Transformation) ของนายกรัฐมนตรี

ผู้นำเป็นตัวกำหนดที่สำคัญของสงครามหรือสันติภาพ ท่าทีแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือ "บ้ามาก็บ้าไป" หรือการส่งสัญญาณความรุนแรงเปรียบประดุจการสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง และดึงประเทศเข้าไปสู่ความรุนแรง หากนายกรัฐมนตรีสามารถปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐานทั้งกาย วาจา ใจ กล่าวคือคิดอย่างสันติ พูดอย่างสันติ และทำอย่างสันติ จะเกิดอานิสงส์ต่อประเทศเป็นอเนกปริยาย รวมทั้งลดความรุนแรงและป้องกันมิคสัญญีด้วย

ที่พูดนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะใครคนใดคนหนึ่งมีโปรแกรมอยู่ในสมองอันเปลี่ยนแปลงได้ยาก ทางพระเรียกว่าเป็นเพราะเขามี "วาสนา" เป็นอย่างนั้น อาจจะพอทำได้บ้างหากตั้งใจจริง และเจริญสติ สังคมควรให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีให้สามารถปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐานได้

ทุกๆ คนก็ควรมีการปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐาน (Personal Transformation) และสังคมก็มีการปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐาน (Social Transformation) ด้วยเช่นกัน

การปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐานเป็นผลสุดยอดของการพัฒนา การพัฒนาควรมีเป้าหมายในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานซึ่งจะก่อให้เกิดสันติภาพ และศานติสุข

นายกรัฐมนตรีและสังคมไทยได้มาถึงจุดวิกฤตที่สุดในชีวิตแล้ว ควรใช้วิกฤตเป็นโอกาสผันตัวและผันประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน เพื่อความเจริญก้าวหน้าบนสันติวรบท

บทบาทของผู้นำมุสลิม กับการแก้ปัญหาภาคใต้


อ.อับดุชชะกูร์ บิน ซาฟิอีย์ ดินอะ อับดุลสุโก ดินอะ  นักศึกษาปริญญาเอกศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนนาชาติ มาเลเซีย  มติชนรายวัน วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9734

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีกรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัดและละผู้เจริญรอยตามท่าน

เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้เรียกร้องให้ผู้นำศาสนาอิสลามให้ออกคำวินิจฉัยด้านศาสนาอิสลาม (หรือฟัตวาในศัพท์วิชาการศาสนา) เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรง และการฆ่ารายวันในภาคใต้ และนายไพศาล พืชมงคล ประธานที่ปรึกษารองนายกฯ พลเอกชวลิต ด้านความมั่นคงได้เรียกร้องให้ผู้นำอิสลามต่อเรียกดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ในรายการรอมฎอน (ออกอากาศเวลา 04.15 น.ของวันที่ 22/10/47 ทางช่อง 11 ซึ่งมีมุสลิมจำนวนมากติดตามรายการนี้อยู่)

ในรายการดังกล่าวมีการพูดคุยอย่างเผ็ดร้อน ดูเสมือนท่านไม่พอใจจุฬาราชมนตรี และมีคำถามกระทบชิ่งไปว่า เป็นไปได้ไหม? หากจะนำปัญหาภาคใต้ให้นักวิชาการอิสลามระดับโลกไม่ว่าจะเป็นจากอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย หรือแม้กระทั่งอิหร่านออกคำวินิจฉัย (ฟัตวา) เกี่ยวกับเรื่องนี้ พูดง่ายๆ ก็คือเสมือนกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยเคยคิดจะนำปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย ไปฟ้ององค์การสหประชาชาติหรือศาลโลกแต่โดนนายกฯทักษิณพูดดักคอไว้

ความเป็นจริงจุฬาราชมนตรีก็เคยออกมาแถลงการณ์หลายต่อหลายครั้ง เกี่ยวกับกับหลักการศาสนากับการใช้ความรุนแรง หรือคัมภีร์บิดเบือนศาสนา และเหตุการณ์กรือเซะที่ยืนยันถึงความถูกต้องของรัฐ และหลายต่อหลายครั้งที่จุฬาราชมนตรีอุตส่าห์บินลงไปในพื้นที่ร่วมกับรัฐ

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศก็เป็นตัวจักรสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่คอยประสานความร่วมมือระหว่างรัฐ กับประชาชนในพื้นที่ เช่น มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ภาพรวม และแนวทางการสร้างเสริมสันติสุขของประชาคม" เมื่อ 28-29 สิงหาคม 2547 ที่จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนของประชาคมมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะครู ผู้นำศาสนา อุสตาซ นักวิชาการของมหาวิทยาลัย นักวิชาการอิสระ ตัวแทนองค์กรชุมชน และประชาชนในพื้นที่

โดยในการประชุมครั้งนี้ได้นำทรรศนะศาสนากับความรักชาติ การก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน การอยู่ร่วมกับต่างศาสนิกและสถาบันพระมหากษัตริย์มานำเสนอ ซึ่งเป็นข้อเขียนของผู้นำศาสนาทั้งส่วนกลางและพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับมาเผยแผ่

ที่สำคัญได้นำคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีทั้งอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับ "ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาอิสลาม กับหลักปฏิบัติของหน่วยราชการต่อชุมชนมุสลิมซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐบางหน่วย"

อาจารย์ ดร.อิสมาอีล ลุตฟีย์ จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลาม และผู้นำมุสลิม ที่ได้รับการยอมรับมากคนหนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ ได้เขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับอิสลามกับการใช้ความรุนแรง และการก่อการร้ายเผยแผ่ต่อชุมชนทั้งภาษามลายูและไทย

อาจารย์อาซิซ พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา ได้ระดมนักวิชาการศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา เขียนหนังสืออิสลาม กับการอยู่ร่วมกับต่างศาสนิกอย่างสันติสุข และแจกจ่ายกับชุมชนมุสลิม นี่คือส่วนหนึ่งของบทบาทผู้นำมุสลิมไม่ว่าระดับชุมชนและชาติที่ได้ทุ่มเทในการแก้ปัญหา

ที่สำคัญสมัชชาอุลามาอ์ (ปราชญ์ด้านศาสนาอิสลาม) สันนิบาตชาติอาหรับ (ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการก่อร้าย (เดือนมกราคม 2002 ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) พอสรุปประเด็นสำคัญไว้ดังต่อไปนี้



ความหมายการก่อการร้าย

การก่อการร้ายหมายถึง การทำร้ายที่เกิดขึ้นโดยบุคคล กลุ่ม หรือประเทศชาติด้วยการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นทั้งในด้านศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน สติปัญญา เกียรติยศและศักดิ์ศรี

ลักษณะของการก่อการร้ายนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าการทำให้รู้สึกกลัว สร้างความเดือดร้อน ข่มขู่ คุกคาม เข่นฆ่า โดยมิชอบและลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม ปิดเส้นทางและปล้น กดขี่ ข่มเหง ทุกการกระทำที่มีลักษณะบ้าระห่ำและการขู่กรรโชกเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการก่ออาชญากรรมด้วยบุคคล หรือกลุ่มเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในสังคมมนุษย์ เพื่อให้เข็ดหลาบด้วยการสร้างความเดือดร้อนและนำพาชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ ความมั่นคงปลอดภัยและสภาพของพวกเขาสู่ภาวะอันตราย

ในจำนวนนี้ยังรวมถึงรูปแบบของการสร้างความพินาศให้กับสภาพแวดล้อม อาคารและทรัพย์สินสาธารณะและบุคคล การผลาญและทำลายทรัพยากรของประเทศและระบบนิเวศต่างๆ

ทั้งหมดนี้คือการความหายนะ

หลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานกับการก่อการร้าย

1.บัญญัติห้ามการสร้างความหายนะกับสังคมโลก

เอกองค์อัลลอฮฺได้ดำรัสว่า "และท่านจงอย่าแสวงหาความหายนะบนพื้นพิภพนี้เพราะแท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" (อัลกุรอานบทอัลเกาะศอด. โองการที่ 77)

2.ห้ามการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นและความอยุติธรรม

พระองค์ได้บัญญัติอีกว่า "จงกล่าวเถิด (โอ้ศาสดามุฮัมมัด) ว่า แท้จริงสิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามสิ่งชั่วช้าและน่ารังเกียจต่างๆ ทั้งที่เปิดเผยและที่ลับ และพระองค์ทรงห้ามกระทำบาปและการข่มเหงรังแกผู้อื่นโดยความอยุติธรรม" (อัลกุรอานบทอัลอะรอฟ โองการที่ 33)

3.ห้ามอย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่สร้างความหายนะและกำหนดบทลงโทษหนักในนรก

อัลลอฮฺได้ดำรัสว่า "และเมื่อเขาหันหลังไปแล้ว เขาพยายามก่อความเสียหายบนพื้นพิภพ ด้วยการทำลายพืชผลการเกษตรและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ และอัลลอฮฺทรงรังเกียจการก่อความเสียหาย และเมื่อมีผู้ถามแก่เขาว่าเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ความเยื้อหยิ่งของเขากลับทำให้เขาทำบาปต่อไป ดังนั้นนรกญฮันนัม (นรกชั้นต่ำสุด) เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับเขาและมันเป็นที่พำนักอันเลวร้ายยิ่งสำหรับเขา" (อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 205-206)

4.การฆ่าผู้อื่นโดยมิชอบเปรียบเสมือนการฆ่ามนุษย์ทั้งมวล

อัลลอฮฺได้ดำรัสว่า "ผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิชอบหรือสร้างความหายนะบนพื้นพิภพประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล" (อัลกุรอานบทอัลมาอิดฮฺ โองการที่ 8)

5.ความหายนะนั้นจะไม่ประสบแก่บรรดาผู้อธรรมเท่านั้นแต่จะประสบกับคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นด้วย

พระองค์ดำรัสอีกว่า "และพวกท่านจงระวังความหายนะ ซึ่งมันจะไม่ประสบแก่บรรดาผู้อธรรมในหมู่พวกท่านเท่านั้น และพึงทราบเถิดว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงลงโทษอย่างรุนแรง" (อัลกุรอานบทอัลอันฟาล โองการที่ 25) เพราะฉะนั้นมนุษย์ทั้งมวลจะต้องช่วยกันส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว

ดังนั้นคำฟัตวาหรือวินิจฉัยของผู้นำมุสลิมสูงสุดไม่น่าเป็นสาเหตุสำคัญและการแก้ปัญหาภาคใต้ ในขณะที่ผลการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ภาพรวมและแนวทางการสร้างเสริมสันติสุขของประชาคม" เมื่อ 28-29 สิงหาคม 2547 ที่จังหวัดสงขลามองว่า สาเหตุหลักของปัญหาคือ กระบวนการยุติธรรม ที่ประชาชนได้รับจากหน่วยงานของรัฐต่างหาก เป็นตัวก่อปัญหาและกลุ่มผู้ไม่หวังดีนำเป็นเงื่อนไข

โดยในเอกสารระบุว่า "โดยความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่ มิได้มีเจตนาแบ่งแยกดินแดนตามข้อกล่าวหา แต่เขาเหล่านั้นต้องการเพียงสิทธิความชอบธรรม และความเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะคนไทยตามที่รัฐกล่าวอ้างเท่านั้นเอง"

ดูเอกสารการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ภาพรวมและแนวทางการสร้างเสริมสันติสุขของประชาคม" ซึ่งสอดคล้องกับบทความคนในพื้นที่ (มติชน หน้า 6 วันที่ 23/10/47) และสกู๊ปหน้า 1 (มองไฟใต้จากอีกมุม, ไทยรัฐ หน้า 33 วันที่ 25/10/47)

ในขณะมุมมองของรัฐมองแนวคิดและขบวนการแบ่งแยกดินแดน (ขบวนการกู้เอกราชคืนตามทรรศนะผู้ก่อการ) เป็นตัวการใหญ่ในปัญหาภาคใต้ดังเหตุการณ์ 28/10/47 (และการชุมนุมประท้วง 26/10/47 ที่ตากใบ ซึ่งผู้เขียนกำลังเขียนอยู่ช่วงท้ายพอดี)

ผู้เขียนคิดว่าทั้งสองสาเหตุน่าจะมีความเกี่ยวพันกัน กล่าวคือสาเหตุหลักของปัญหาคือ กระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับ จากหน่วยงานของรัฐเป็นตัวก่อปัญหา (ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและขบวนการแบ่งแยกดินแดน (กลุ่มส่วนน้อย) นำไปเป็นเงื่อนไข และความชอบธรรมในปฏิบัติการ ดังนั้นปัจจุบันจึงเป็นสงครามแย่งชิงมวลชน โดยมีคนส่วนใหญ่และผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่เป็นเป้าหมายและสงครามครั้งนี้น่าจะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ รุนแรงและยาวนานที่สุด (เพียงแค่เป็นสงครามที่ไม่ประกาศแค่นั้นเอง)

ดังนั้นการแก้ปัญหากับคนส่วนใหญ่จะต้องให้ความยุติธรรม นโยบายการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

อีกนโยบายหนึ่งคือหลักศาสนาธรรมที่อาจารย์ประเวศ วะสี เคยเสนอไว้แต่สำหรับผู้ร่วมขบวนการนั้นรัฐจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างถาวรและเบ็ดเสร็จกับนโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือวิธีการปราบปราม

นโยบายนี้อาจเห็นผลของการปราบปรามจับกุม การสังหารผู้ร่วมขบวนการ แต่รัฐเคยคิดบ้างไหมว่า การปราบปราม จับกุม การสังหารหนึ่งคนจะทวีคูณเท่าไรเพราะมันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองและอุดมการณ์

เพราะฉะนั้นนโยบายการเมืองต้องนำการทหารบางครั้งการยอมรับความจริง ถึงแม้จะเสียศักดิ์ศรีบ้าง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะของคนในชาติ ไม่ว่าภาครัฐและฝ่ายต่อต้านสุดท้ายผู้ที่ได้ผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริสุทธิ์และความพังพินาศของเศรษฐกิจของชุมชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม

ผู้เขียนหวังว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อประชาชนในพื้นที่ ตามที่พวกท่านเรียกร้องว่าเพื่อประชาชน และมาตุภูมิ

ขอให้พระเจ้าจงประทานความเป็นเอกภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพในดินแดนภาคใต้ด้วยเทอญ อามีน