ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีกรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัดและละผู้เจริญรอยตามท่าน
เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้เรียกร้องให้ผู้นำศาสนาอิสลามให้ออกคำวินิจฉัยด้านศาสนาอิสลาม (หรือฟัตวาในศัพท์วิชาการศาสนา) เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรง และการฆ่ารายวันในภาคใต้ และนายไพศาล พืชมงคล ประธานที่ปรึกษารองนายกฯ พลเอกชวลิต ด้านความมั่นคงได้เรียกร้องให้ผู้นำอิสลามต่อเรียกดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ในรายการรอมฎอน (ออกอากาศเวลา 04.15 น.ของวันที่ 22/10/47 ทางช่อง 11 ซึ่งมีมุสลิมจำนวนมากติดตามรายการนี้อยู่)
ในรายการดังกล่าวมีการพูดคุยอย่างเผ็ดร้อน ดูเสมือนท่านไม่พอใจจุฬาราชมนตรี และมีคำถามกระทบชิ่งไปว่า เป็นไปได้ไหม? หากจะนำปัญหาภาคใต้ให้นักวิชาการอิสลามระดับโลกไม่ว่าจะเป็นจากอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย หรือแม้กระทั่งอิหร่านออกคำวินิจฉัย (ฟัตวา) เกี่ยวกับเรื่องนี้ พูดง่ายๆ ก็คือเสมือนกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยเคยคิดจะนำปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย ไปฟ้ององค์การสหประชาชาติหรือศาลโลกแต่โดนนายกฯทักษิณพูดดักคอไว้
ความเป็นจริงจุฬาราชมนตรีก็เคยออกมาแถลงการณ์หลายต่อหลายครั้ง เกี่ยวกับกับหลักการศาสนากับการใช้ความรุนแรง หรือคัมภีร์บิดเบือนศาสนา และเหตุการณ์กรือเซะที่ยืนยันถึงความถูกต้องของรัฐ และหลายต่อหลายครั้งที่จุฬาราชมนตรีอุตส่าห์บินลงไปในพื้นที่ร่วมกับรัฐ
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศก็เป็นตัวจักรสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่คอยประสานความร่วมมือระหว่างรัฐ กับประชาชนในพื้นที่ เช่น มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ภาพรวม และแนวทางการสร้างเสริมสันติสุขของประชาคม" เมื่อ 28-29 สิงหาคม 2547 ที่จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนของประชาคมมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะครู ผู้นำศาสนา อุสตาซ นักวิชาการของมหาวิทยาลัย นักวิชาการอิสระ ตัวแทนองค์กรชุมชน และประชาชนในพื้นที่
โดยในการประชุมครั้งนี้ได้นำทรรศนะศาสนากับความรักชาติ การก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน การอยู่ร่วมกับต่างศาสนิกและสถาบันพระมหากษัตริย์มานำเสนอ ซึ่งเป็นข้อเขียนของผู้นำศาสนาทั้งส่วนกลางและพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับมาเผยแผ่
ที่สำคัญได้นำคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีทั้งอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับ "ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาอิสลาม กับหลักปฏิบัติของหน่วยราชการต่อชุมชนมุสลิมซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐบางหน่วย"
อาจารย์ ดร.อิสมาอีล ลุตฟีย์ จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลาม และผู้นำมุสลิม ที่ได้รับการยอมรับมากคนหนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ ได้เขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับอิสลามกับการใช้ความรุนแรง และการก่อการร้ายเผยแผ่ต่อชุมชนทั้งภาษามลายูและไทย
อาจารย์อาซิซ พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา ได้ระดมนักวิชาการศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา เขียนหนังสืออิสลาม กับการอยู่ร่วมกับต่างศาสนิกอย่างสันติสุข และแจกจ่ายกับชุมชนมุสลิม นี่คือส่วนหนึ่งของบทบาทผู้นำมุสลิมไม่ว่าระดับชุมชนและชาติที่ได้ทุ่มเทในการแก้ปัญหา
ที่สำคัญสมัชชาอุลามาอ์ (ปราชญ์ด้านศาสนาอิสลาม) สันนิบาตชาติอาหรับ (ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการก่อร้าย (เดือนมกราคม 2002 ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) พอสรุปประเด็นสำคัญไว้ดังต่อไปนี้
ความหมายการก่อการร้าย
การก่อการร้ายหมายถึง การทำร้ายที่เกิดขึ้นโดยบุคคล กลุ่ม หรือประเทศชาติด้วยการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นทั้งในด้านศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน สติปัญญา เกียรติยศและศักดิ์ศรี
ลักษณะของการก่อการร้ายนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าการทำให้รู้สึกกลัว สร้างความเดือดร้อน ข่มขู่ คุกคาม เข่นฆ่า โดยมิชอบและลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม ปิดเส้นทางและปล้น กดขี่ ข่มเหง ทุกการกระทำที่มีลักษณะบ้าระห่ำและการขู่กรรโชกเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการก่ออาชญากรรมด้วยบุคคล หรือกลุ่มเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในสังคมมนุษย์ เพื่อให้เข็ดหลาบด้วยการสร้างความเดือดร้อนและนำพาชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ ความมั่นคงปลอดภัยและสภาพของพวกเขาสู่ภาวะอันตราย
ในจำนวนนี้ยังรวมถึงรูปแบบของการสร้างความพินาศให้กับสภาพแวดล้อม อาคารและทรัพย์สินสาธารณะและบุคคล การผลาญและทำลายทรัพยากรของประเทศและระบบนิเวศต่างๆ
ทั้งหมดนี้คือการความหายนะ
หลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานกับการก่อการร้าย
1.บัญญัติห้ามการสร้างความหายนะกับสังคมโลก
เอกองค์อัลลอฮฺได้ดำรัสว่า "และท่านจงอย่าแสวงหาความหายนะบนพื้นพิภพนี้เพราะแท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" (อัลกุรอานบทอัลเกาะศอด. โองการที่ 77)
2.ห้ามการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นและความอยุติธรรม
พระองค์ได้บัญญัติอีกว่า "จงกล่าวเถิด (โอ้ศาสดามุฮัมมัด) ว่า แท้จริงสิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามสิ่งชั่วช้าและน่ารังเกียจต่างๆ ทั้งที่เปิดเผยและที่ลับ และพระองค์ทรงห้ามกระทำบาปและการข่มเหงรังแกผู้อื่นโดยความอยุติธรรม" (อัลกุรอานบทอัลอะรอฟ โองการที่ 33)
3.ห้ามอย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่สร้างความหายนะและกำหนดบทลงโทษหนักในนรก
อัลลอฮฺได้ดำรัสว่า "และเมื่อเขาหันหลังไปแล้ว เขาพยายามก่อความเสียหายบนพื้นพิภพ ด้วยการทำลายพืชผลการเกษตรและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ และอัลลอฮฺทรงรังเกียจการก่อความเสียหาย และเมื่อมีผู้ถามแก่เขาว่าเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ความเยื้อหยิ่งของเขากลับทำให้เขาทำบาปต่อไป ดังนั้นนรกญฮันนัม (นรกชั้นต่ำสุด) เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับเขาและมันเป็นที่พำนักอันเลวร้ายยิ่งสำหรับเขา" (อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 205-206)
4.การฆ่าผู้อื่นโดยมิชอบเปรียบเสมือนการฆ่ามนุษย์ทั้งมวล
อัลลอฮฺได้ดำรัสว่า "ผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิชอบหรือสร้างความหายนะบนพื้นพิภพประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล" (อัลกุรอานบทอัลมาอิดฮฺ โองการที่ 8)
5.ความหายนะนั้นจะไม่ประสบแก่บรรดาผู้อธรรมเท่านั้นแต่จะประสบกับคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นด้วย
พระองค์ดำรัสอีกว่า "และพวกท่านจงระวังความหายนะ ซึ่งมันจะไม่ประสบแก่บรรดาผู้อธรรมในหมู่พวกท่านเท่านั้น และพึงทราบเถิดว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงลงโทษอย่างรุนแรง" (อัลกุรอานบทอัลอันฟาล โองการที่ 25) เพราะฉะนั้นมนุษย์ทั้งมวลจะต้องช่วยกันส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว
ดังนั้นคำฟัตวาหรือวินิจฉัยของผู้นำมุสลิมสูงสุดไม่น่าเป็นสาเหตุสำคัญและการแก้ปัญหาภาคใต้ ในขณะที่ผลการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ภาพรวมและแนวทางการสร้างเสริมสันติสุขของประชาคม" เมื่อ 28-29 สิงหาคม 2547 ที่จังหวัดสงขลามองว่า สาเหตุหลักของปัญหาคือ กระบวนการยุติธรรม ที่ประชาชนได้รับจากหน่วยงานของรัฐต่างหาก เป็นตัวก่อปัญหาและกลุ่มผู้ไม่หวังดีนำเป็นเงื่อนไข
โดยในเอกสารระบุว่า "โดยความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่ มิได้มีเจตนาแบ่งแยกดินแดนตามข้อกล่าวหา แต่เขาเหล่านั้นต้องการเพียงสิทธิความชอบธรรม และความเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะคนไทยตามที่รัฐกล่าวอ้างเท่านั้นเอง"
ดูเอกสารการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ภาพรวมและแนวทางการสร้างเสริมสันติสุขของประชาคม" ซึ่งสอดคล้องกับบทความคนในพื้นที่ (มติชน หน้า 6 วันที่ 23/10/47) และสกู๊ปหน้า 1 (มองไฟใต้จากอีกมุม, ไทยรัฐ หน้า 33 วันที่ 25/10/47)
ในขณะมุมมองของรัฐมองแนวคิดและขบวนการแบ่งแยกดินแดน (ขบวนการกู้เอกราชคืนตามทรรศนะผู้ก่อการ) เป็นตัวการใหญ่ในปัญหาภาคใต้ดังเหตุการณ์ 28/10/47 (และการชุมนุมประท้วง 26/10/47 ที่ตากใบ ซึ่งผู้เขียนกำลังเขียนอยู่ช่วงท้ายพอดี)
ผู้เขียนคิดว่าทั้งสองสาเหตุน่าจะมีความเกี่ยวพันกัน กล่าวคือสาเหตุหลักของปัญหาคือ กระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับ จากหน่วยงานของรัฐเป็นตัวก่อปัญหา (ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและขบวนการแบ่งแยกดินแดน (กลุ่มส่วนน้อย) นำไปเป็นเงื่อนไข และความชอบธรรมในปฏิบัติการ ดังนั้นปัจจุบันจึงเป็นสงครามแย่งชิงมวลชน โดยมีคนส่วนใหญ่และผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่เป็นเป้าหมายและสงครามครั้งนี้น่าจะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ รุนแรงและยาวนานที่สุด (เพียงแค่เป็นสงครามที่ไม่ประกาศแค่นั้นเอง)
ดังนั้นการแก้ปัญหากับคนส่วนใหญ่จะต้องให้ความยุติธรรม นโยบายการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
อีกนโยบายหนึ่งคือหลักศาสนาธรรมที่อาจารย์ประเวศ วะสี เคยเสนอไว้แต่สำหรับผู้ร่วมขบวนการนั้นรัฐจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างถาวรและเบ็ดเสร็จกับนโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือวิธีการปราบปราม
นโยบายนี้อาจเห็นผลของการปราบปรามจับกุม การสังหารผู้ร่วมขบวนการ แต่รัฐเคยคิดบ้างไหมว่า การปราบปราม จับกุม การสังหารหนึ่งคนจะทวีคูณเท่าไรเพราะมันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองและอุดมการณ์
เพราะฉะนั้นนโยบายการเมืองต้องนำการทหารบางครั้งการยอมรับความจริง ถึงแม้จะเสียศักดิ์ศรีบ้าง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะของคนในชาติ ไม่ว่าภาครัฐและฝ่ายต่อต้านสุดท้ายผู้ที่ได้ผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริสุทธิ์และความพังพินาศของเศรษฐกิจของชุมชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม
ผู้เขียนหวังว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อประชาชนในพื้นที่ ตามที่พวกท่านเรียกร้องว่าเพื่อประชาชน และมาตุภูมิ
ขอให้พระเจ้าจงประทานความเป็นเอกภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพในดินแดนภาคใต้ด้วยเทอญ อามีน
No comments:
Post a Comment