Thursday, July 30, 2009

โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุข






รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กดปุ่มโอนเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ครัวเรือนเป้าหมาย ในโครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า100ล้าน บาท
เมื่อ 17 กรกฎาคม 2552 ที่ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ เป็นประธาน กดปุ่มโอนเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ครัวเรือนเป้าหมาย ในโครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 110ล้าน บาท ในพื้นที่ 317 ตำบล ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยผู้ว่าราชการ 4 ทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสตูล) ปราชญ์ชาวบ้าน บัณฑิตอาสาฯ ผู้แทนครัวเรือนเป้าหมาย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานนับพันคน ในโอกาสนี้นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายเพื่อนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงขยายผลให้เห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่ทำกินของราษฎรเอง เป็นการผสม ผสานการทำงานร่วมกันระหว่าง 4 เสาหลัก คือ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำจิตวิญญาณ และผู้นำตามธรรมชาติ กับ เจ้าหน้าที่ของรัฐจากหน่วยงานต่างๆ
ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 317 ตำบล ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยแต่ละตำบลคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายร่วมโครงการ 1 หมู่บ้านๆละ 70 ครัวเรือน วันเปิดตัวโครงการมีการกดปุ่มโอนเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับครัวเรือนเป้าหมาย ตำบลละ 350,000 บาท ซึ่งเป็นเงินกว่า 110 ล้านบาท
ทางด้านนาย พระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ ที่สำคัญประการแรกคือ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสถานการณ์วิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ และผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ให้มีรายได้และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และประการที่สำคัญคือประชาชนกลุ่มเป้าหมายมี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งโครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง (พนพ.) หรือโครงการวิถีชีวิตพอเพียง ศอ.บต โดยน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการ โดยให้ประชาชนมีบทบาท แก้ไขปัญหาในลักษณะ “คิดเอง ทำเอง ตัดสินใจทางเลือกอาชีพด้วยตนเอง”

Tuesday, July 21, 2009

วัดช้างไห้แหล่งรวมศรัทธาชาวใต้





มุมสวยสงบหลังม่านควันปืน







ชายแดนใต้ในวันนี้ยังพอมีที่เอนหลังฟังเสียงลมเย็นได้อยู่บ้าง หวังไว้ลึกๆว่าสักวันคงจะได้มีโอกาสนอนหลับตาได้สนิทบ้าง....

Monday, July 13, 2009

กะเน๊าะ ยิ้ม รับเก้าอี้คนพิการจาก “กองทุนครูเลขา อิสสระ”







เมื่อบ่ายวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ณ บ้านอันตะคูวอ ม.3 ต.กอตอตือระ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา คณะของ ศอ.บต. นำโดยนายวิจิตร อิสสระ ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ได้นำเก้าอี้เข็ญคนพิการ มูลค่า 18,000 บาท ไปมอบให้นางอามีเน๊าะ โซ๊ะปาเน๊าะ หญิงหม้ายพิการผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่ปี 2550 โดยถูกผู้ก่อความไม่สงบยิงที่ลำตัวพร้อมกับสามี ขณะที่กำลังขนของบริเวณตลาดสดเมืองยะลา ทำให้สามีอันเป็นที่รักเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ตนเองพิการเดินไม่ได้มากว่า 2 ปี พร้อมกับทิ้งภาระลูก 6 คน ไว้ให้ดูแล ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานหลายหน่วยให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เพียงพอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบรถเข็นสำหรับผู้พิการให้ 1 คัน แต่ก็ใช้งานไม่ได้ ซึ่งนายวิจิตร อิสสระ ผู้เป็นพี่ชายนางสาวเลขา อิสสระ ครูที่ประสบชะตาชีวิตเช่นเดียวกับสามีของเธอ ให้ข้อมูลว่า รู้จักคนในพื้นที่อำเภอรามันดี เพราะเกิดที่อำเภอรามันและน้องสาวที่เสียชีวิตจากการถูกผู้ก่อความไม่สงบยิง เช่นเดียวกัน จึงได้นำเงินกองทุนของครูเลขา อิสสระ ซื้อรถเข็นมอบให้เพื่อช่วยเยียวยาทดแทนของเดิมที่ใช้การไม่ได้ “เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นี่” นายวิจิตรกล่าว ซึ่ง นางอามีเน๊าะ ดีใจมาก ยิ้มรับต่อหน้าผู้ให้และลูกๆ ด้วยความตื้นตันใจ
ด้านนายลูกศมัน การีอูมา บัณฑิตอาสา ประจำหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ผู้มาทำหน้าที่ประสานงานและดูแลติดตามโครงการต่างๆ ในหมู่บ้านบอกว่า ตนดีใจที่ได้ทำหน้าที่ในการประสานการให้ความช่วยเหลือให้แก่คนในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีโครงการหลายอย่างที่ ศอ.บต. จัดขึ้น ที่ได้เป็นผู้ประสานทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับและให้ความร่วมมืออย่างดี ตัวอย่างการให้ความช่วยเหลือนางอามีเน๊าะ ครั้งนี้ตนและทีมบัณฑิตอาสาตำบลกอตอตือระ ก็จะเข้ามาดูแลในเรื่องอื่นๆต่อไป ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ประจำตำบล ตามโครงการ พนม. ที่ ศอ.บต. จัดหางบประมาณค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งขณะนี้ยังมีความต้องการงบประมาณเพื่อซื้อก้อนเห็ดนางฟ้าสำเร็จรูป อีกจำนวน 6,000 ก้อน เพื่อเพาะเลี้ยง หากได้รับการสนับสนุนคาดว่าจะสามารถเก็บผลผลิตขายได้ประมาณวันละ1,200 บาทเลย “ก็ดีใจที่ได้มาทำหน้าที่ตรงนี้” นายลูกศมันกล่าว หากญาณวิถีของครูเลขา อิสสระ จะรับรู้ถึงความดีใจของนางอามีเน๊าะ และครอบครัว ตลอดจนคนในชุมชนที่ตนเองปลูกฝังความดีงามมาด้วยแล้ว คงจะมีความปลื้มปีติไม่ยิ่งหย่อนกว่ารอยยิ้มของผู้ได้รับการเยียวยา รวมทั้งผู้ไปมอบให้ในครั้งนี้อยู่ไม่น้อย


ศิริวิชญ์ ดอกแก้ว รายงาน
Klawarich@gmail.com