Monday, July 13, 2009
กะเน๊าะ ยิ้ม รับเก้าอี้คนพิการจาก “กองทุนครูเลขา อิสสระ”
เมื่อบ่ายวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ณ บ้านอันตะคูวอ ม.3 ต.กอตอตือระ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา คณะของ ศอ.บต. นำโดยนายวิจิตร อิสสระ ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ได้นำเก้าอี้เข็ญคนพิการ มูลค่า 18,000 บาท ไปมอบให้นางอามีเน๊าะ โซ๊ะปาเน๊าะ หญิงหม้ายพิการผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่ปี 2550 โดยถูกผู้ก่อความไม่สงบยิงที่ลำตัวพร้อมกับสามี ขณะที่กำลังขนของบริเวณตลาดสดเมืองยะลา ทำให้สามีอันเป็นที่รักเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ตนเองพิการเดินไม่ได้มากว่า 2 ปี พร้อมกับทิ้งภาระลูก 6 คน ไว้ให้ดูแล ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานหลายหน่วยให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เพียงพอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบรถเข็นสำหรับผู้พิการให้ 1 คัน แต่ก็ใช้งานไม่ได้ ซึ่งนายวิจิตร อิสสระ ผู้เป็นพี่ชายนางสาวเลขา อิสสระ ครูที่ประสบชะตาชีวิตเช่นเดียวกับสามีของเธอ ให้ข้อมูลว่า รู้จักคนในพื้นที่อำเภอรามันดี เพราะเกิดที่อำเภอรามันและน้องสาวที่เสียชีวิตจากการถูกผู้ก่อความไม่สงบยิง เช่นเดียวกัน จึงได้นำเงินกองทุนของครูเลขา อิสสระ ซื้อรถเข็นมอบให้เพื่อช่วยเยียวยาทดแทนของเดิมที่ใช้การไม่ได้ “เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นี่” นายวิจิตรกล่าว ซึ่ง นางอามีเน๊าะ ดีใจมาก ยิ้มรับต่อหน้าผู้ให้และลูกๆ ด้วยความตื้นตันใจ
ด้านนายลูกศมัน การีอูมา บัณฑิตอาสา ประจำหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ผู้มาทำหน้าที่ประสานงานและดูแลติดตามโครงการต่างๆ ในหมู่บ้านบอกว่า ตนดีใจที่ได้ทำหน้าที่ในการประสานการให้ความช่วยเหลือให้แก่คนในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีโครงการหลายอย่างที่ ศอ.บต. จัดขึ้น ที่ได้เป็นผู้ประสานทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับและให้ความร่วมมืออย่างดี ตัวอย่างการให้ความช่วยเหลือนางอามีเน๊าะ ครั้งนี้ตนและทีมบัณฑิตอาสาตำบลกอตอตือระ ก็จะเข้ามาดูแลในเรื่องอื่นๆต่อไป ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ประจำตำบล ตามโครงการ พนม. ที่ ศอ.บต. จัดหางบประมาณค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งขณะนี้ยังมีความต้องการงบประมาณเพื่อซื้อก้อนเห็ดนางฟ้าสำเร็จรูป อีกจำนวน 6,000 ก้อน เพื่อเพาะเลี้ยง หากได้รับการสนับสนุนคาดว่าจะสามารถเก็บผลผลิตขายได้ประมาณวันละ1,200 บาทเลย “ก็ดีใจที่ได้มาทำหน้าที่ตรงนี้” นายลูกศมันกล่าว หากญาณวิถีของครูเลขา อิสสระ จะรับรู้ถึงความดีใจของนางอามีเน๊าะ และครอบครัว ตลอดจนคนในชุมชนที่ตนเองปลูกฝังความดีงามมาด้วยแล้ว คงจะมีความปลื้มปีติไม่ยิ่งหย่อนกว่ารอยยิ้มของผู้ได้รับการเยียวยา รวมทั้งผู้ไปมอบให้ในครั้งนี้อยู่ไม่น้อย
ศิริวิชญ์ ดอกแก้ว รายงาน
Klawarich@gmail.com
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment